อยากติดโซลาร์เซลล์ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

อยากติดโซลาร์เซลล์ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
เดี๋ยวนี้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ทำให้อากาศแปรปรวน เวลาร้อน ก็ร้อนสุดๆ จะเปิดแอร์กระหน่ำให้ฉ่ำใจก็ไม่กล้า เพราะค่าไฟก็แพงเอา แพงเอา การติดโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในบ้านในระยะยาว เพราะลงทุนครั้งเดียว สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานถึง 30 ปี!!
แต่ว่าเราจะต้องรู้อะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร มาดูกัน
การประเมินเบื้องต้น
โซลาร์เซลล์เป็นระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ดังนั้นจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วงเวลากลางวันที่มีแสง จึงไม่ใช่ทุกคนที่ควรติดโซลาร์เซลล์
วิธีการประเมินที่ดีที่สุดคือการจดบันทึกการใช้ไฟฟ้าระหว่างเวลากลางวัน-กลางคืน เพื่อนำตัวเลขมาคำนวณว่าควรติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือไม่ ต้องติดตั้งขนาดเท่าไหร่ แต่ถ้าเราไม่มีเวลามานั่งบันทึกอย่างละเอียดขนาดนั้น ก็สามารถประเมินแบบง่ายจากค่าไฟฟ้าของเราที่ https://collectivesolar.thailandsolarfund.org/solar-calculator/
ถ้าหากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้านของเรายังไม่เยอะ หรือช่วงเวลากลางวันไม่ค่อยได้ใช้ไฟ เราอาจเลือกใช้ตัวเลือกพลังงานแบบอื่น เช่น โซลาร์เซลล์ขนาดเล็กสำหรับไฟทางเดิน โซลาร์เซลล์ที่ต่อตรงกับระบบปั้มน้ำสำหรับคนที่ทำสวน เป็นต้น
นอกจากนี้ เรายังต้องสำรวจพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย ลองประเมินด้วยสายตา หรือภาพถ่ายดาวเทียมของ google map ดูว่าหลังคาเรามีพื้นที่เพียงพอหรือไม่ สามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีเงาไม้หรือเงาอื่นๆ บดบัง
หาพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้แล้ว อย่าลืมดูพื้นที่สำหรับอุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) และตู้สวิทช์บอร์ด ซึ่งมีขนาดไม่เล็กและควรอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ร้อนและไม่เปียกน้ำ
การประเมินราคาและเตรียมงบประมาณ
โดยปกติเราจะประเมินราคาติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบง่ายด้วยการนำตัวเลขขนาดที่ต้องติดตั้ง (kW) x 35,000 บาท เช่น หากเราวางแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 3 kW จะใช้งบประมาณประมาณ 3 kW x 35,000 บาท = 105,000 บาท เป็นต้น หรือดูตัวเลขอ้างอิงจากบางบริษัท
ส่วนของ ก๊วนหิวแสง สามารถเช็คราคาได้ที่ https://collectivesolar.thailandsolarfund.org/blog/price-spec-term/
สำหรับเงินค่าติดตั้ง ถ้าใครมีเงินเก็บเงินก้อนไว้แล้วก็สบายใจ แต่ถ้าไม่มีก็สามารถใช้สินเชื่อกู้ยืมจากธนาคารต่างๆ ได้ โดยเน้นที่สินเชื่อ GREEN สินเชื่อรักษ์โลก หรือสินเชื่อโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื้อกู้ยืมแบบปกติและมีระยะเวลาการผ่อนคืนที่ค่อนข้างยาว
การหาทีมช่างติดตั้ง
หลายคนอาจมีความกังวลว่าควรจะใช้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์จากทีมช่างไหน บริษัทอะไรดี เพราะเพียงเราค้นหาคำว่า “โซลาร์เซลล์” บนอินเตอร์เนตก็มีชื่อบริษัทติดตั้งโซลาร์เซลล์ขึ้นมาจำนวนมาก ในการเลือกเราอาจพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ดังนี้
- พื้นที่ให้บริการหลัก โดยเน้นบริษัทหรือช่างที่อยู่ในพื้นที่ จะสะดวกต่อการติดต่อประสานงานมากกว่า
- ความน่าเชื่อถือ ดูจากระยะเวลาดำเนินธุรกิจของบริษัทหรือช่างเองว่าให้บริการมาแล้วกี่ปี ประวัติงานที่ผ่านมาหากมีการเปิดเผย หรืออาจดูจากรีวิวของบริษัทบน google map ก็ได้
- หากมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่มีประสบการณ์ติดตั้งโซลาร์เซลล์มาแล้ว อาจเลือกใช้บริษัทหรือทีมช่างเดียวกันได้
- การเสนอสเป็กอุปกรณ์และราคามีความสมเหตุสมผล คือไม่ได้มีราคาที่แพงเกินไป ไม่ได้เสนอขนาดติดตั้งที่มากกว่าที่เราควรใช้ รวมถึงการไม่ได้ตัดลดราคาจนดูต่ำกว่าต้นทุนเกินไป
ส่วนทีมช่างของ “ก๊วนหิวแสง” เราได้คัดเลือกผู้ติดตั้งโดยพิจารณาจากประวัติการทำงานและการเสนอราคา ผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโครงการคือ บริษัท คณาคุณ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์มาแล้วกว่า 1.6 เมกกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2021 และเคยติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับเครือข่ายของกองทุนแสงอาทิตย์มานาน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัทได้ที่ www.khanakhunservice.co.th
วันติดตั้ง
การติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 วัน ขึ้นอยู่ความยากง่ายของงานติดตั้ง เช่น ความสูงของหลังคา วิธีการปีน ลักษณะพื้นที่ ฯลฯ
เราสามารถตรวจดูคุณภาพของงานติดตั้งได้ดังนี้
- งานเจาะวางโครงสร้าง – เช็คว่าน็อตที่ใช้มันใหญ่แข็งแรงถูกต้อง และหลังเจาะมีการยาแนวบริเวณรูน็อตให้เรียบร้อย
- งานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ -- ตอนที่ช่างกำลังยกแผงขึ้นไป ให้สังเกตดูตำหนิของแผงด้วยว่าสภาพสมบูรณ์ทุกอัน ไม่มีรอยเปื้อนหรือรอยร้าว พอช่างวางติดตั้งแล้วให้ดูความบาลานซ์ของแผงว่าไม่เอียง น้ำหนักดูบาลานซ์ดี และช่างติดตั้งสายไฟให้อยู่ลอยใต้แผง ไม่แนบไปกับกระเบื้องหลังคาบ้าน
- งานติดตั้งตู้อุปกรณ์ต่างๆ -- ดูว่าช่างเจาะแขวนตู้อุปกรณ์เรียบร้อย ไม่เจาะโดนรางสายไฟหรือท่อน้ำของตัวบ้าน และไม่ทำบ้านแตกร้าวเสียหาย
- งานเดินสายไฟ -- ตรวจดูขนาดสายไฟมีขนาดเหมาะสม ไม่เล็กบางจนเกินไป (เพราะต้องรองรับกระแสไฟฟ้ากำลังสูง) มีการทำรางไฟเรียบร้อย และตรวจดูจุดที่ช่างเชื่อมสายเข้าตู้ควบคุมไฟบ้านว่าเข้าช่องถูกต้อง เรียบร้อย มีการเขียนกำกับให้
- การเซ็ตระบบตู้ควบคุมสวิทต์บอร์ดและอินเวอร์เตอร์ – ตรวจสอบการเซ็ตระบบต่างๆ ว่าใส่ข้อมูลอะไรบ้าง เช่น ตู้ไฟต้องทำการตัดเมื่อมีขนาดไฟเกินเท่าไหร่ อินเวอร์เตอร์จะสลับไปใช้ไฟของการไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เมื่อมีกำลังไฟต่ำกว่าเท่าไหร่ ฯลฯ ที่สำคัญถ่ายภาพบันทึกไว้ เมื่อเรากลับมาตรวจเช็คเอง จะได้จำได้ว่าสวิทต์ต่างๆ ภายในตู้ควรอยู่ตำแหน่งอะไร
- การติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อดูและควบคุมอินเวอร์เตอร์จากมือถือ – ให้เซ็ตระบบในแอพพลิเคชั่นพื้นฐานและทดลองกดคำสั่งต่างๆ ในแอพพร้อมกับช่าง เพื่อให้มั่นใจว่าเราเข้าใจทุกเมนูจริงๆ จะได้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพและไม่พลาดไปกดคำสั่งอะไรแปลกๆ
ครบจบตรงนี้ ก็ใช้ไฟจากแสงอาทิตย์กันได้เลย
การดูแลรักษา
โดยปกติโซลาร์เซลล์ไม่ต้องการการดูแลรักษามากนัก หลังจากที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้ว เพื่อยืดอายุการใช้งานให้มีประสิทธิภาพดี ใช้งานได้ตามอายุการใช้งาน 25-30 ปี ควรมีการบำรุงรักษาหรือตรวจสอบให้แน่ใจว่าโซลาร์เซลล์ยังอยู่ในสภาพที่ดี ซึ่งการดูแลรักษาอาจทำได้เองหรือมีการเรียกผู้ให้บริการล้างแผงเข้ามาดำเนินการ
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://collectivesolar.thailandsolarfund.org/blog/solar-maintenance/